วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การทำบุญง่ายๆ 10 ประการ


วิธีทำบุญง่ายๆ 10 ประการ ที่เราสามารถทำได้ทุกวัน มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
1.การให้ทาน ประกอบด้วย ให้วัตถุสิ่งของ ให้ธรรมะ และให้อภัย สังเกตใจทุกครั้งที่มีโอกาสให้ทานว่า ให้ด้วยความเต็มใจ เปี่ยมสุขหรือมีสิ่งใดตกค้างขัดขวางอยู่บ้าง ก็สลัดออกไป
2.การสมาทานศีล คือความตั้งใจที่จะงดเว้นจากการกระทำที่เบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนผู้อื่น เพราะเห็นโทษของการกระทำนั้นๆและเต็มใจสลัดขัดเกลาอย่างเต็มสติกำลัง
3.การภาวนา คือการเฝ้าระวังรักษาใจมิให้เผลอไผลสร้างตัวตนขึ้นมาก่อทุกข์ เพราะเกิดความรู้สึกตัวตนครั้งหนึ่ง กระบวนการเกิดทุกข์ยกโขยงมาทั้งขบวน เมื่อใจไม่ต้องแบกตัวตน ก็กลายเป็นใจเบา หรือเบาใจนี้แหละคือใจในขณะที่ว่างจากตัวตน
4.ความอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงความอ่อนโยนหรือ อ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้คือวิธีการลดตัวตนชนิดหนึ่ง การ ทำบุญ ที่ง่ายที่สุด ได้ผลมากไม่แพ้วิธีอื่นๆก็คือการอ่อน้อมถ่อมตนนี้เอง
5.เต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น งานที่เรียกกันว่างานอาสาสมัคร ที่คนทำกันอยู่โดยทั่วไป หรือ การรวมกลุ่มกันบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ชุมชนใดๆโดยไม่รับสิ่งใดๆตอบแทน
6.การแสดงธรรม การที่พระสงฆ์แสดงธรรมก็ดี การที่ใครๆแม้มิใช่เป็นพระสงฆ์แต่มีเจตน์จำนง มีความปรารถนาดีในการบอกทางชีวิตดีๆให้แก่เพื่อนผู้ต่างการชี้ทางล้วนเป็น การแสดงธรรม
7.การฟังธรรม การตั้งใจฟังธรรมจากพระสงฆ์ที่แสดงธรรม การฟังธรรมจากสื่อธรรม เพื่อเพิ่มความรู้ทางชีวิตที่ถูกต้อง ล้วนเป็นการทำบุญ ที่จะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขทั้งนั้น
8.การมอบความดีให้แก่กันและกัน เมื่อได้สร้างความดีอย่างใดแล้ว ตั้งใจเผื่อแผ่ความดีนั้นไปให้แก่ผู้อื่นด้วยการตั้งความปรารถนาดีแก่บุคคล ทั้งที่เป็นที่รักและที่เคยเกลียดชัง ให้สิ่งเหล่านั้หายขาดเลิกแล้วต่อกัน วางใจเป็นกลาง
9.การพลอยยินดีกับผู้อื่น เมื่อเห็นว่าพวกเขาทำความดี เป็นการสร้างกำลังใจให้แก่สังคม สลายความอิจฉาจากใจ ไม่ตกนรก นั่งนอนเป็นสุข แค่นั้นก็เห็นสวรรค์อยู่ตรงหน้า
10.ทำความเห็นให้ตรง เมื่อ ใดใช้สติพิจารณา กิจกรรมที่ผ่านมาในชีวิตแล้ว ทบทวนว่า สิ่งใดดีควรจะเพิ่มเติม และหากพบว่าสิ่งใดไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์มีแต่โทษเจือปน ต้องตัดใจขจัดออกไปอย่างตรงไปตรงมาไม่ปล่อยให้ค้างคาชีวิต
Credit : Horoscope.Mthai.com
(ขอบคุณข้อมูลจาก www.horolive.com)
(ขอบคุณภาพจาก rd1677,watpanamjone.org)

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันเข้าพรรษา

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียว นั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตาม สมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำ ตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้ มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา

การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์

การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง

ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำ ทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็น การกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมี การแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
   ๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
   ๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร
   ๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
   ๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ



Credit By : www.dhammathai.org